ไปอ่านเจอมาค่ะ และต้องการแบ่งปันสิ่งนี้ให้กับทุกท่านได้อ่าน ขอบคุณเจ้าของบล็อกมา http://prempapatblong.exteen.com/  ณ ที่นี้ด้วยนะคะ 

 

 

 ภาพยนตร์ไทยอมตะ
สะท้อนทัศนคติผิดๆ ที่เห็นลูกเป็น  “ตัวซวย!!!”

 

บทวิเคราะห์โดย… เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

 

“ น้ำพุ…”

 

“ จุดเริ่มต้น แห่งโศกนาฏกรรม ”

 

กำกับโดย… ยุทธนา มุกดาสนิท
แสดงโดย … อำพล ลำพูน,ภัทราวดี ศรีไรรัตน์

 

 

ย่างเข้าเดือนมีนาคมทีไร
ผมมักจะคิดถึงหนัง(ในดวงใจ)เรื่อง “น้ำพุ”เสมอ…
ทำไม ?  หลายท่านอาจสงสัย   

 

ครับ…คำตอบก็คือ วันที่ 13 มีนาคม(พ.ศ.2499)
คือ วันเกิดของ วงศ์เมือง นันทขว้าง หรือ “น้ำพุ”ที่ใครๆก็รู้จัก

 

 

เหตุที่ผมจำวันเกิดของน้ำพุได้
อาจเป็นเพราะ จดจำสองประโยคในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างแม่นยำ

 

1… ที่โรงพยาบาล เมื่อน้ำพุคลอด
พ่อ (รับบทโดยสุเชาว์ พงษ์วิไล) รำพันเบาๆ

 

“ เฮ้อ…เกิดวันที่ 13 …ไม่ดีเลยเนอะ !”

 

แม่(รับบทโดยภัทราวดี    ) “ บ้าน่ะ ! นั่นมันความเชื่อของฝรั่ง ”

 

2…  ที่บ้าน
เมื่อพ่อแม่ทะเลาะและตบตีกันในขณะที่น้ำพุ
(เด็กในวัยราว 4-5ขวบ)นั่งตัวสั่น เป็นลูกนกซุกอยู่ใต้บันได

 

พ่อ (ก่อนจะผลุนผลันออกจากบ้านหันไปมองลูกชาย อย่างจะกินเลือดกินเนื้อ)
“  ไอ้พุ…มึง…ไอ้เด็กเกิดวันที่ 13 …ไอ้ตัวซวย…!!! ”

 

เคยลองค้นดูเหมือนกันว่า เหตุใด? วันที่ 13 หรือเลข 13
จึงเป็น เลขซวย หรือ วันซวย ที่ฝรั่ง(บางคน)ถือสากันนัก ?
ก็ได้คำตอบมาว่า… ก่อนที่พระเยซูเจ้าจะถูกตรึงไม้กางเขนนั้น
ท่านได้ร่วมเสวยพระกระยาหาร กับสานุศิษย์ 12คน
ดังนั้นเมื่อรวมท่านเข้าไปด้วยก็คือ 13 คน !

 

ยิ่งหากว่าวันที่ 13นั่นตรงกับวันศุกร์
นับว่าเป็นวันมหาซวยเลยทีเดียว เพราะว่าพระเยซูถูกตอกตรึงในวันศุกร์…
ดูแล้วออกจะไร้สาระและไม่น่าจะเกี่ยวโยงกับความอัปมงคลใดๆ
แต่ก็มีบางคนพร้อมที่จะกลัว พร้อมที่จะเชื่อโดยไม่ตรองถึงเหตุผลใดๆทั้งสิ้น
จึงน่าจะเกิดความรู้สึกเป็นบาป เป็นเรื่องเลวร้าย
โดยเฉพาะคำตรัสแก่สาวกในวันนั้น ที่กล่าวว่า…

 

“ จงรับเอาขนมปังไปกิน  และถือว่ามันคือเนื้อของเรา  ”

 

“ และ จงดื่มเหล้าองุ่น  และถือว่ามันคือเลือดของเรา ”

 

ดังนั้น สำหรับคนบางกลุ่ม(ซึ่งอาจจะไม่ใช่น้อยเลย)
ก็อาจเกิดความรู้สึกกลัว รู้สึกบาปกับประโยคดังกล่าว
เพราะจิตไร้สำนึกเกิดการโยงกับความต้องการทำลายพ่อของตนเอง
อันเป็นความรู้สึกของเด็กวัย 3- 5 ขวบ ( ปมอิดิปุส )

 

เมื่อความคิดดังกล่าวเกิด…
ความรู้สึกผิด-บาป และกลัวการถูกลงโทษก็มักตามมาติดๆ

 

ดังนั้นเลข 13 กับความซวย
จึงมักถูกเชื่อมโยงเข้าหากัน
จนเกิดความรู้สึกกลัว และรู้สึกรังเกียจของหลายๆคนในโลกนี้

 

…ในโลกที่มีผู้ใหญ่ประเภทไม่กล้าเผชิญกับความจริง ..จิตใจคับแคบ
ซึ่งมักจะป้ายโทษ-โยนบาปให้แก่ผู้ที่ด้อยกว่า อ่อนแอกว่า
…ไม่เว้นแม้แต่กับ ลูกแท้ๆของตัวเอง
ให้ต้องตกอยู่ในฐานะ แพะรับบาป (Scapegoat)

 

อันเป็นกลไกของจิต( Defense Mechanism) ชนิดหนึ่ง
ที่บุคคลผู้มีความพร่องในจิตใจมักถูกนำมาใช้อย่างไม่รู้ตัว
เพื่อระบายความเครียด-คับข้องใจในทุกครั้งที่มีปัญหา
( เช่นพลาดหวังในตำแหน่ง..  ล้มเหลวในชีวิต..
หรือผิดหวังในสารพัดเรื่อง.. ฯลฯ  )

 

โดยเขาช่างไม่แคร์เลยว่า
ผู้ที่กลายเป็นแพะนั้น
จะไม่ได้รับความเป็นธรรม
จะเจ็บปวดขมขื่น และเกิดเป็นบาดแผลทางใจ(Psychic trauma)
จนเรื้อรังกระทั่งมีผลร้ายต่อชีวิตในอนาคตของเด็กๆ

 

… เด็กๆ ที่เป็น ลูกแท้ๆของตนเอง…

 

ปมทางใจอันสำคัญยิ่งของน้ำพุ … เริ่มต้นจากจุดนี้…
คือจุดที่แม้แต่พ่อแท้ๆยังมองว่าตนคือ ตัวซวย
อันเป็นสาเหตุทำให้พ่อต้องล้มเหลวในชีวิต

 

…ทำให้พ่อแม่ต้องทะเลาะตบตีกันไม่เว้นวัน
…หรือแม้แต่ทำให้พ่อต้องมีเมียน้อย!…ฯลฯ
… เพียงเพราะตนดันเกิดวันที่13
อันเป็นวันซวย ตามความเชื่อฝังหัว ของบุคคลที่มีความงมงาย
และมีอคติทางใจสูง

 

ความขมขื่นอย่างต่อเนื่อง- ความคับแค้น
และ ความโกรธที่แสดงออกไม่ได้ ไม่รู้จักวิธีระบายออก
จึงกลายเป็นความเก็บกด และเกิดเป็นอารมณ์เศร้าซ่อนเร้น
กลายเป็นบุคลิกซึมเศร้า ติดตัวไปตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่ 

 

การถูกพ่อปฏิเสธความรักตั้งแต่เด็ก
บวกกับความรู้สึกเหมือนโดนทอดทิ้งจากแม่
(ที่เขารักจนลุ่มหลง)ในหลายช่วงของชีวิต
ยิ่งเพิ่มความคับข้องใจ ตีค่าตนเองต่ำ(Low self esteem)
บวกกับความรู้สึกผิด-บาปทุกครั้งที่เกิด
ความชิงชังพ่อ – โกรธและน้อยอกน้อยใจแม่
ความเกลียดชังและขัดแย้งจึงผกผันเข้าสู่ตนเอง

 

เกิดเป็นพฤติกรรมทำลายตนเองทางอ้อม
เช่น…   หนีเรียน  มั่วสุม  และติดยาเสพติด
มีความคิดอยากฆ่าตัวตายอย่างไม่รู้ตัว
อันเป็นสัญชาตญาณอยากตาย(Death Instinct)
อันเป็นความรู้สึกที่ไม่สร้างสรรค์ที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกผู้นาม
นอกจากนั้น ฤทธิ์ของยาเสพติด จึงเสมือนเป็นทางออก
หรือเป็นประตูไปสู่ความคลายเครียด –คลายกลุ้ม
และ คลายเศร้า ที่เร็วและลัดที่สุดแล้ว
สำหรับเด็กวัยรุ่นที่มีพื้นฐานอ่อนแอและขาดไร้วุฒิภาวะ
โดยเฉพาะมีความตึงเครียดและคับข้องใจอยู่ตลอดเวลา (Tension- Conflict)
ส่วนผลเสียหายอันร้ายแรงที่จะตามมานั้น
พวกเขายังไม่อยากไปคิดอะไรทั้งสิ้น….

 

 

“ปมทางใจ”  อันสำคัญของน้ำพุ(รับบทโดย อำพล ลำพู)นั้น
ผู้กำกับ(ในดวงใจ)ยุทธนามุกดาสนิท
ได้สะท้อนออกมาให้เห็นได้อย่าง(ค่อนข้าง)ชัดเจน  ในฉาก

 

“ ความฝันของน้ำพุ”ทั้งสองฉาก…

 

1…  ฝันในคืนที่น้าแพท(รับบทโดยเรวัติ พุทธินันท์)
-ว่าที่พ่อเลี้ยง เข้ามาอยู่ในบ้าน และเข้าไปนอนห้องเดียวกับแม่
คืนนั้นน้ำพุฝันว่า …

 

“ พุอยู่นี่ฮะ…แม่…”  เสียงน้ำพุ(หนุ่ม)เรียกแม่ดังก้องกลางทุ่งกว้าง
ภาพในฝันสลับกลายเป็น
ภาพน้ำพุในวัยเด็ก( 4-5ขวบ อันเป็นปีที่พ่อทิ้งเขาไปอยู่กับเมียใหม่)

 

เด็กน้อยตะโกนเรียกแม่   “  แม่…จับว่าวให้หน่อย ”

 

แม่จึงจับว่าวของน้ำพุ แล้วปล่อยขึ้นฟ้า
ในขณะที่สายลมพัดผ่าน
แรงลมจึงช่วยให้ว่าวลอยสูงขึ้น..สูงขึ้น…
น้ำพุ(เด็ก)กระตุกสายป่านแล้ววิ่งไป
แม่วิ่งตามว่าวที่ลอยละลิ่วอยู่บนฟ้า

 

ในฝันนั้น…เห็นแม่เอนกายลงนอนบนพื้นหญ้า
น้ำพุ(เด็ก)นั่งคุกเข่ามอบดอกไม้ให้แม่
ด้วยท่าทีดุจเจ้าชายมอบความรักและภักดีให้แก่เจ้าหญิงผู้สูงศักดิ์ …
แม่เอนตัวขึ้นมาหอมแก้มน้ำพุ(หนุ่ม)
แล้วภาพก็เปลี่ยนเป็นน้ำพุ(เด็ก)ที่เอนตัวลงนอนแล้วกอดแม่อย่างแสนรัก…

 

2..  .ฝันในคืนสุดท้ายของชีวิต
ในขณะที่พิษของยาเสพติด กำลังแผ่ซ่านเข้าสู่หัวใจ…
ภาพน้ำพุ(เด็ก)กลางทุ่งกว้าง บรรยากาศชวนว้าเหว่ยิ่งนัก
เขาตะโกนเรียกพ่อ เมื่อเห็นพ่อยืนอยู่ไกลลิบๆ
น้ำพุ(หนุ่ม)ยิ้มร่า รีบวิ่งเข้าไปหาพ่อ พร้อมกวักมือเรียก

 

 “  พ่อ…  พ่อ…  พ่อคร๊าบบบบบบบ…….”

 

มือขวาก็กวักมือเรียก
ในขณะที่มือซ้ายถือสายป่านที่มีว่าวละลิ่วอยู่เบื้องบน
แต่เมื่อเข้าใกล้พ่อ…น้ำพุ(เด็ก)ก็ต้องตกใจ…

 

เพราะรอยยิ้มของพ่อที่เห็นอยู่แต่ไกลๆนั้น
มันช่างดูน่ากลัวเมื่อเข้ามาใกล้ๆ
…ซ้ำแววตาก็มิใช่เอื้ออารีดังเช่นที่เขาโหยหามาแสนนาน…
แต่มันดูดุร้าย และเหี้ยมเกรียม…  และแล้ว 

 

พ่อก็เงื้อมมือที่ถือมีดด้ามใหญ่…ฟันฉับจนสายป่านของน้ำพุขาดผึง…
น้ำพุ(หนุ่ม)จึงเสียหลัก ล้มกลิ้งจากเนินเขาลงไปยังเบื้องล่าง…

 

ปี 1900… ปรมาจารย์ทางจิตวิเคราะห์
ซิกมันด์ ฟรอยด์ เผยแพร่งานวิจัยชุด Interpretation Dreams
เขานำเสนอแนวคิดที่ว่า..

 

“ความฝัน คือ กุญแจวิเศษที่จะไขความลับถึงก้นบึ้งของจิตใจมนุษย์
มันไม่ใช่เป็นลางสังหรณ์ หรือทำนายอนาคต
แต่มันสะท้อนถึงความรู้สึกที่ซ่อนเร้นต่อเหตุการณ์ –อันเลวร้าย ในอดีต”

“มันแฝงตัวอยู่ในจิตไร้สำนึก
และตีแผ่ให้เห็นได้ในห้วงฝันด้วยสัญญลักษณ์ (Symbol) ต่างๆ
เพราะว่าหากมันไม่ถูกแปลงรูปซะใหม่ แต่เผยออกมาตรงๆจะๆแล้ว
เจ้าของความฝันก็อาจตื่นตกใจ ด้วยความหวาดกลัว กระทั่งอาจถึงกับช็อค ! ”

 

ดังเช่น….   “ว่าว”ในฝันของน้ำพุ คืออะไร?
ตอบ… ว่าว คือสัญลักษณ์แทน อวัยวะเพศ
การลอยละลิ่วฉวัดเฉวียนอยู่บนท้องฟ้า
ให้ความรู้สึกอิสรเสรี เหนือกฎเกณฑ์
และ ปลอดจากความรู้สึกผิด-บาปใดๆ

 

เด็กผู้ชายวัย 3 – 5ขวบนั้น
จะเรียกได้ว่าเป็น วัยหลงแม่ (และหึงพ่อ)  ก็ย่อมได้

 

ซิกมันด์ ฟรอยด์ ได้กล่าวว่า
…เด็กมีความรักแม่อย่างท่วมท้น แต่กลับชิงชังพ่อ (Oedipus Complex)
เห็นพ่อเป็น คู่แข่งที่ได้เปรียบในทุกประตู
จึงทำให้เกิดความกลัวว่าพ่อจะรู้ถึงความประสงค์ร้ายของตน
และในที่สุด พ่อก็จะทำการ “แก้แค้น”…โดยการ…
ตัดอวัยวะเพศของตน!  (castration Fear )
ดังเช่น …พ่อ ใช้มีดฟันฉับ  จนสายว่าวของน้ำพุขาดผึง !….

 

“ตัวตนที่ไร้ค่า-จึงไม่พ้นภัยยาเสพติด…”

 

“เออ…พุ…อาทิตย์หน้าแม่ต้องไปอิตาลีนะ …
แหม..อย่าทำหน้าหยั่งงั้นซิ..
น่า..นะ ไปแค่ 2 – 3 เดือนเอง”

 

“ โธ่…แค่เขียนต้นฉบับมือก็จะหงิกอยู่แล้ว  ”
(แม่ตอบ เมื่อพุตัดพ้อว่า
ตลอดที่อยู่เมืองนอกนั้นแม่ไม่เคยเขียนจดหมายถึงเขาเลย  ”

 

และ ในที่สุด…    “ แม่… พุติดยา…_!”

 

ความรักของน้ำพุที่มีต่อแม่นั้น
คือความรักความผูกพันที่ติดตรึง(Fixation)
และ เกาะเกี่ยว(over Independent)
ติดตรึงในความรู้สึกของการได้ครอบครองแม่แต่เพียงผู้เดียว
เหตุเพราะคนเป็นพ่อทิ้งลูกทิ้งเมีย
และลูกเองก็คงได้รับข้อมูลด้านลบของพ่อจากปากแม่อยู่เสมอ
เกาะเกี่ยวผูกพัน ชนิดที่ถ้าเป็นไปได้
จะขอเป็นส่วนหนึ่งในร่างกายของแม่เลยทีเดียว
หนำซ้ำยังกลัวตลอดเวลาว่าแม่จะพรากจากไป
เช่นเดียวกับพ่อที่เคยทิ้งเขามาแล้ว

 

ความรู้สึกทั้งสองประการนี้
ได้เกิดขึ้นในใจอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่
โดยไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างสมวัย
จนเกิดกลายเป็นบุคลิกของคนที่มีภาวะต้องการความพึ่งพาสูง
ดังกาฝากหรือไม้เลื้อย( Hopeless character)
ที่จำต้องเกาะเกี่ยวเหนี่ยวพันต้นไม้ใหญ่อยู่ร่ำไป

 

แต่ทว่า
การเป็นได้แค่ไม้เลื้อย
ที่โอนเอนออเซาะเป็นลูกแหง่ติดแม่เช่นเขานั้น
ดูจะขัดกับภาพพจน์ที่เข้มแข็งบึกบึนแบบบุรุษเพศทั่วไป
เขาเองก็ต้องการเป็นเช่นที่สังคมยอมรับ แต่ก็……

 

1 )  พ่ายแพ้แก่จิตส่วนลึก
ที่คอยตอกย้ำแก่ตนเสมอว่า…
แกมันคนอ่อนแอไร้พลัง และดูแลตัวเองไม่ได้เลย  

 

ดังนั้น “ยาเสพติด”
จึงเป็นหนทางแห่งการคลายเครียดคลายความขัดแย้งในใจตนเอง
ซึ่งออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว
หลุดจากชีวิตหม่นเศร้าแล้วลอยไปสู่โลกอันประหลาดล้ำ
ส่วนผลร้ายแรงที่จะตามมา
ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะสิ้นหวังนี้ มักจะไม่ต้องการคิดถึง

 

2 )  ยิ่งฝังใจกับคำว่า “แกมัน…ตัวซวย”
ที่คนเป็นพ่อคอยตอกย้ำตั้งแต่เขายังอยู่ในวัยอนุบาล
ในวัยที่ยึดตนเองว่าคือศูนย์กลางของจักรวาล (ego centric)
… การหย่าร้างของพ่อแม่จึงเป็นความผิดของตนแต่เพียงผู้เดียว!…
ความรู้สึกชิงชังตนเองดังกล่าวกลายมาเป็น

 

ปมต้องการทำลายตัวเอง(self destructiveness`)
ที่มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของเขา-อย่างไม่รู้ตัว

 

3 )ความกลัวการพรากจาก
การรู้สึกเหมือนโดนทอดทิ้ง เหมือนเป็นส่วนเกินที่แปลกแยก
… เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่หนุ่มน้ำพุผู้ว้าเหว่หันมาเสพยา
ดังจะยึดคติเช่นเดียวกับมนุษย์พ่ายชีวิตผู้เปราะบาง
และสิ้นหวังทั้งหลาย นั่นคือ…

 

เมื่อฉันทำสิ่งดีๆกลับไม่มีใครสนใจ
งั้นคงต้องทำสิ่งเลวๆเผื่อจะมีใครสนใจ
…ครั้นใครๆก็สนใจเมื่อทำสิ่งเลว
ก็กลับเป็นแรงเสริมให้กระทำสิ่งผิดๆหนักหน่วงขึ้น

กรณีของน้ำพุก็เช่น…ในขณะที่ทั้งแม่ และพี่สาว
น้องสาวต่างพากันต้อนรับ และชื่นชม
“น้ารัน”…น้ำพุกลับต้องเสพยาหนักขึ้น
เพื่อลบความขัดแย้งในใจและเพื่อลืมทุกข์
ในขณะที่จิตส่วนที่แฝงเร้นนั้น…กลัวถูกทอดทิ้ง
และ ต้องการให้คนในครอบครัวอันเป็นที่รักนั้นหันมาสนใจ
ห่วงใยเขาให้มากๆกว่าที่เป็นอยู่

 

4 ) ความรู้สึกหม่นเศร้าที่สั่งสมภายในจิตใจมาตั้งแต่เด็ก
บวกกับความกลัวการพลัดพรากจากแม่ที่นับวัน
จะกลายเป็นความจริงเข้าทุกที
(โดยเฉพาะเมื่อน้ารันก้าวเข้ามาในชีวิตของแม่)
การเข้าสู่วังวนของคนเสพยา
ทำให้แม่และพี่น้องหันกลับมาเอาใจใส่เขามากขึ้น

 

5 ) ในภาพยนตร์เรื่อง “น้ำพุ”…
ตลอดระยะ10วันกว่า ที่น้ำพุต้องเข้าไปอดยาที่วัดถ้ำกระบอก
แม่ไม่เคยไปเยี่ยม
หรือแม้แต่เขียนจดหมายไปให้กำลังใจลูกชายเลยแม้แต่ฉบับเดียว
…และเมื่อน้ำพุกลับมาอยู่ที่บ้าน
แล้วทวงถามถึงจดหมาย10ฉบับ จากน้ำพุถึงแม่
(เขาเขียนในเชิงบทบันทึกระหว่างที่อดยาที่ถ้ำกระบอก)
ที่ฝากแม่ช่วยลงนิตยสาร(ฉบับที่แม่เป็นบ.ก.)

 

ก็กลับได้รับคำตอบจากแม่ว่า…

 

 “เฮ้อ…ยังไม่มีเวลาอ่านเลย..”(ทั้งๆที่อ่านจนพรุนแล้ว)
ดูเหมือนว่าคนเป็นแม่ช่างแล้งน้ำใจนัก
แต่หากวิเคราะห์กันอย่างลึกซึ้งแล้ว
นั่นหมายถึงความปวดร้าวของคนที่เป็นแม่!
ที่รู้สึกว่าตนนั้นช่างอ่อนแอดูแลลูกไม่ได้
แต่ก็ไม่กล้าพอที่จะยอมรับความบกพร่องในส่วนนี้ของตน
จึงพยายามจะปกป้องตัวเอง
และไม่พร้อมที่จะเผชิญกับความจริงที่ว่า…

 

บัดนี้ลูกชายคนเดียวของตน…กำลังติดยาเสพติดเข้าขั้นวิกฤตแล้ว!!!

 

ดังนั้น
ความสัมพันธ์ของแม่ลูกคู่นี้
จึงมีความรู้สึกที่สลับกันไปๆมาๆ ระหว่าง
การหมกมุ่นดูแลที่มากจนเกินเหตุ( Enmeshment)
และ ทำห่างเหินเหมือนไม่ใส่ใจ (abandonment)

 

6 )พฤติกรรมของลูกชายที่สร้างความเดือดร้อนกลุ้มใจให้คนที่เป็นแม่
กลับทำให้สามศรีพี่น้องทำตัวเป็น“เด็กดี”ยิ่งขึ้น
เช่น    เอาใจใส่แม่มากขึ้น  ตั้งใจเรียนหนังสือยิ่งขึ้น
ดูแลบ้านช่องดียิ่งขึ้น ฯลฯ…. .

 

แต่ก็มักจะตกอยู่ในความตึงเครียด รู้สึกผิด
และยากจะผ่อนคลายจากความรู้สึกไม่สบายใจที่มักเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ

 

7 )  ความใกล้ชิด และแสวงหากิจกรรมที่สร้างสรรค์ร่วมกัน
คืออีกหนทางที่ลูกจะพ้นจากภัยยาเสพติด
แม้จะเป็นช่วงวัยรุ่น ที่มีสภาพตีกลับ
โดยเฉพาะแผลในใจที่สั่งสมมาตั้งแต่วัยเยาว์
และกลับปะทุขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยแห่งพายุบุแคม
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลง
หรือปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นไม่ได้เลย

 

การเปิดใจรับฟัง การพูดคุยในเชิงปรึกษาหารือ
อย่างถนอมน้ำใจกัน และแสวงหากิจกรรมดีๆที่จะมาทำร่วมกัน
เช่น…      ช่วยกันจัดบ้านให้สดใสน่าอยู่ยิ่งขึ้น
พากันไปเล่นกีฬา  เรียนดนตรี     เรียนศิลปะ
แข่งแรลลี่ครอบครัว  ท่องป่าเชิงอนุรักษ์  ศึกษาธรรมะ
(หรือกิจกรรมเน้นความรักความเข้าใจในครอบครัว
ที่หน่วยงานด้านสุขภาพจิตของรัฐ หรือของเอกชนจัดขึ้น )

 

เหล่านี้ล้วนทำให้วัยรุ่น เกิดทัศนคติที่ดีต่อชีวิต
ต่อครอบครัว  และต่อตนเอง
เกิดเป็นความสุขสงบ และหนักแน่นขึ้น

 

8 )  เด็กวัยรุ่นที่ติดยาเสพติดมีไม่น้อยเลย
ที่แทบไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรเลยเมื่ออยู่บ้าน
ในครอบครัวที่พ่อแม่วางตัวดังแม่ทัพนายกอง
ส่วนลูกๆเปรียบดังทหารปลายแถว
ที่มีหน้าที่เพียงรอรับคำบัญชาการ 

 

แต่….บ้านไม่ใช่สนามรบ
การสื่อสารในครอบครัวเช่นนี้จึงล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
เพราะนั่นคือการสื่อสารแบบวันเวย์  

 

จะดีกว่าหรือไม่?
หากบ้านจะเป็นสถานที่ผ่อนคลาย
สบายใจสำหรับผู้ร่วมชายคา
ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
รับฟังปัญหากันด้วยความเข้าใจ ถนอมน้ำใจ
และไร้เสียงด่าทอ หรือทุบตีกัน   

 

ดังนั้นหากไม่ต้องการให้ลูกติดยาเสพติด
โปรดสร้างบรรยากาศแห่งประชาธิปไตย
ให้เกิดขึ้นในครอบครัวให้จงได้…
จงสร้างการสื่อสารแบบทูเวย์ขึ้นในบ้านขึ้นให้จงได้…..

 

9) ไม่น่าเชื่อ…ที่ยุคนี้ยังมีผู้ใหญ่อีกมาก
ที่เก็บกดการแสดงความรู้สึกดีๆให้ลูกได้รับรู้
เมื่อลูกทำดีกลับทำเฉย
แต่พอลูกพลาดเข้าหน่อยก็ด่าอย่างสาดเสียเทเสีย

 

ดังนั้น สิ่งที่เด็กๆได้รับคือ
ต้องเก็บกดโทสะ(ที่พ่อแม่จุดขึ้น) กลายเป็นความก้าวร้าวเงียบ
และเกิดเป็นอารมณ์ซึมเศร้าในเวลาต่อมา
พวกเขามากมายที่เดินเข้าสู่วังวนแห่งการเสพยา
และสิ้นใจตายอยู่ในวังวนอุบาทว์นั้น

 

จงอย่ารักและชื่นชมลูกอยู่เพียงในใจ
จงให้รู้ว่าเขามีค่าต่อพ่อแม่มากเพียงใด
จงโอบหลัง โอบไหล่  กอด  หอมแก้มลูกๆของคุณ

แล้วพวกเขาจะรู้สึกได้ถึงคุณค่าแห่งตน
และจะมีความมั่นคงในจิตใจ
มีวุฒิภาวะทางอารมณ์

 

ทั้งหมดนี้คือ
เกราะคุ้มกันอันเข้มแข็งมี่ภัยยาเสพติดใดๆในโลกไม่มีทางแผ้วพานได้เลย…..

 

ข้อคิดสำคัญจาก
คุณหมอทรงเกียรติ  ปิยะกุล  ผอ.จิตเวช
รพ.เซนต์แอนโทนี่  สหรัฐอเมริกา
จิตแพทย์ตัวอย่าง-ประจำปี พ.ศ.2538

 


“เด็กที่มีมุมมองในแง่ดีต่อตนเอง
รู้แจ้งว่าของดีตนมีอยู่ มีศักดิ์ศรี
แต่ไม่โอ้อวด เรียกว่ามีกึ๋นอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจ…
มีโอกาสติดยาเสพติดน้อยมาก…

 

ดังนั้นควรฝึกลูกให้นึกถึงสิ่งที่ดีงามประจำตัว
และฝึกชมสมาชิกในครอบครัววันละอย่างน้อยก็สองอย่าง…
ฝึกมองข้อดีของผู้อื่น  ฝึกให้กำลังใจตนเอง และ ผู้อื่น
ยิ่งเราคิดดีต่อตนเองเท่าไร ย่อมไม่อยากลองยาเท่านั้น …
ให้ส่งจิต-สู่ใจ ด้วยไมตรีเป็นนิจศีล     ”

 

http://www.csip.org/
http://www.thaisafeplay.com/
http://adisak.blog.mthai.com/
http://adisak-channels.blog.mthai.com/

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *